การเห่เรือแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือการเห่เรือหลวงและการเห่เรือเล่น 
การเห่เรือหลวงคือการอาศัยเสียงเห่เรือที่เป็นสัญญาณให้ฝีพายในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีลักษณะบทประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง ประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บทนำ
มีบทร้อยกรองเป็นกาพย์ยานี และเป็นบทพรรณนาตามอีกหลายบท  การเห่เรือเล่น เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งในฤดูน้ำหลากเช่นเดียวกับเพลงเรือและดอกสร้อยสักวา 
ซึ่งมีบทเห่เป็นกลอนสด ที่มีเนื้อหาสนุกสนาน ครื้นเครง ปัจจุบัน ศิลปะการเห่เรือมี ๒ รูปลีลา คือ ลีลาการเห่เรือในรูปแบบของกองทัพเรือ และลีลาการเห่เรือในรูปแบบของกรมศิลปากร

การเห่เรือ คือทำนองหนึ่งของการร้อง หรือการใช้เสียงประกอบการให้จังหวะแก่ฝีพายในการพายเรือ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพายเรือพระราชพิธี 
ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยผ่อนแรงในการพายเรือระยะทางไกล ๆ ได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของการเห่เรือ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการให้จังหวะแก่ฝีพายจำนวนมากในริ้วขบวน 
ให้มีจังหวะการพายที่พร้อมเพรียง เป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างามสมกับพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์ไทยที่ประทับอยู่ในเรือ 
เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมประจำชาติที่เกี่ยวข้องกับพระราชประเพณีดั้งเดิม เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยให้คงอยู่สืบไป