เรือพระราชพิธีคือเรือที่สร้างขึ้นสำหรับใช้ในกิจการของราชสำนักหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ใช้เป็นเรือรบในยามศึกสงคราม เป็นพระราชยานพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีและโอกาสสำคัญต่างๆ ลำเรือจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และยาวกว่าเรือทั่วไป ใช้พายแล่นกินน้ำตื้น บรรจุคนได้จำนวนมาก โขนเรือ(หัวเรือ) นิยมทำเป็นรูปลักษณ์ในตำนานปรัมปราบางครั้งเรียกรวมๆ ว่า “เรือรูปสัตว์” ลักษณะเรือเช่นนี้ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น รูปนูนบนกลองมโหระทึก สำริดพบหลายแหล่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมามีหลักฐานการใช้เป็นเรือสัญจรสำหรับผู้สูงศักดิ์และเรือรบ เช่น ภาพสลักบนทับหลังเหนือกรอบประตูหนึ่งของปราสาทพิมาย นครราชสีมา(พุทธศตวรรษที่ ๑๗) ภาพสลักหินบนผนังระเบียงปราสาทบายน เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) สันนิษฐานว่าเรือพระราชพิธีของไทยอาจมีต้นแบบมาจากเรือดังกล่าว 
          เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๓๑๐ เรือพระราชพิธี ได้รับความเสียหายเกือบหมด แม้ว่ามีการสร้างขึ้นใหม่อีกหลายลำหลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่เรือส่วนใหญ่ถูกทำลายในคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พุทธศักราช ๒๔๘๒ – ๒๔๘๘) ต่อมาสำนักพระราชวัง  กองทัพเรือและกรมศิลปากรได้ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานการสร้างเรือพระราชพิธี รวมทั้งแบบแผนขบวนพยุหยาตราชลมารคสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลปัจจุบันไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติ กล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในโลกที่ธำรงไว้ซึ่งราชประเพณีว่าด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำด้วยเรือของสถาบันพระมาหากษัตริย์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน